โรคกระจกตาโก่ง (Keratoconus)

 โรคกระจกตาโก่ง (Keratoconus)

หากพูดถึงโรคตาที่มาด้วยตามัวเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ต้องนึกถึงโรคต้อกระจก ต้อหิน ต้อเนื้อ ต้อลม จอประสาทตาเสื่อม วุ้นตาเสื่อม ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานหรือที่เรียกว่าภาวะเบาหวานขึ้นจอตา อีกหนึ่งโรคทางตาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและไม่สามารถรักษาด้วยการหยอดตา นั่นก็คือ Keratoconus หรือโรคกระจกตาโก่ง แต่หลายคนจะรู้จักในชื่อโรคกระจกตาย้วย โรคกระจกตาป้อแป้ หรือโรคกระจกตารูปกรวย โรคนี้คืออะไร วินิจฉัยและรักษาอย่างไร เรามีข้อมูลดีๆ พร้อมกับวิธีสังเกตตัวเองง่ายๆ มาฝาก

โรคกระจกตาโก่งคืออะไร

Keratoconus หรือโรคกระจกตาโก่ง เป็นภาวะผิดปกติของเส้นใยคอลลาเจนที่กระจกตา โดยเกิดได้จากการที่มีเส้นใยคอลลาเจนที่กระจกตาอ่อนแอลงและคอลลาเจนที่กระจกตาชั้นกลางเรียงตัวผิดปกติ ทำให้กระจกตาอ่อนแอ บริเวณตรงกลางจึงบางลงและโก่งนูนยื่นมาข้างหน้า ลักษณะเป็นรูปทรงกรวย ย้วยหรือเบี้ยว ส่งผลให้มีค่าสายตาสั้นหรือเอียงเพิ่มอย่างรวดเร็ว ทำให้การมองเห็นแย่ลง แต่หากไม่รีบทำการรักษาตั้งแต่ช่วงแรกอาจมีอาการอื่นๆเพิ่มเติม เช่น แผลที่กระจกตา กระจกตาทะลุ โรคกระจกตาโก่งสามารถเกิดได้กับทุกช่วงวัย พบได้ในอัตรา 1:10,000 คน โดยมักเกิดขึ้นกับตาทั้งสองข้างพร้อมกัน แต่ความรุนแรงอาจไม่เท่ากันได้

สาเหตุของโรคกระจกตาโก่ง

เหตุผลที่ทำให้โรคกระจกตาโก่งเป็นโรคตาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย เนื่องจากเกิดได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้

-พฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อกระจกตา ที่พบได้บ่อยที่สุดคือการขยี้ตาแรงเป็นเวลานาน โดยเฉพาะจากโรคภูมิแพ้ทางตา หรือการสวมใส่คอนแทคเลนส์เป็นระยะเวลานานซึ่งอาจทำให้มีอาการตาแห้งหรือภูมิแพ้-กรรมพันธุ์-การเป็นโรคบางชนิด เช่น ภาวะดาวน์ซินโดรม โรคหืด โรคหนังยืดผิดปกติ โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ หรือภาวะตาอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น-การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน-การได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตต่อเนื่องเป็นเวลานาน-การทำหัตถการทางตาที่มีผลให้กระจกตาบางลง

รู้ได้อย่างไรว่ามีอาการของโรคกระจกตาโก่ง

   ​ปกติแล้วอาการโรคกระจกตาโก่งสามารถเริ่มแสดงอาการได้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น แต่เนื่องด้วยอาการเริ่มต้นจะคล้ายกับการมีภาวะสายตาสั้นหรือสายตาเอียง จึงทำให้หลายคนจะเข้าใจผิดคิดว่าค่าสายตาเปลี่ยนแปลงและเลือกที่จะไปตัดแว่นสายตา หรือบรรเทาอาการตามัวด้วยการหยอดตา แทนที่จะเข้าไปตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์ ซึ่งโรคกระจกตาโก่งก็จะยังคงดำเนินอยู่หากไม่รีบทำการรักษา จะทำให้การมองเห็นค่อยๆแย่ลง ซึ่งจะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นหากเรารู้อาการของโรคและวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วจึงช่วยให้การรักษาเร็วขึ้น อีกทั้งยังลดผลกระทบที่อาจนำไปสู่โรคตาอื่นๆ ด้วย สำหรับอาการของโรคกระจกตาโก่งที่สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ มีดังต่อไปนี้

-คุณภาพการมองเห็นแย่ลง ตามัว เห็นภาพต่างๆ ไม่ชัดเจน แม้ว่าอายุยังน้อย-เกิดการเปลี่ยนแปลงค่าสายตาสั้นหรือเอียงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อยกว่าปกติ-มีอาการเคืองตา แสบตา หรือตาไม่สู้แสงแดด-มีอาการเคืองตา เนื่องจากกระจกตาที่โก่งอาจทำให้มีตาแห้งง่ายเกิดแผลที่กระจกตา เป็นอาการที่แสดงว่าโรคกระจกตาโก่งมีความรุนแรงมากขึ้น หรือเป็นจากภาวะเยื่อบุตาอักเสบ

กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดโรคกระจกตาโก่ง

แม้ว่าโรคกระจกตาโก่งจะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและสามารถพบได้ในอัตรา 1:10,000 คน แต่ถึงอย่างนั้นภาวะหรือพฤติกรรมบางอย่างก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

-มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย-กลุ่มคนที่มีพฤติกรรมขยี้ตาหรือใช้นิ้วกดลูกตาเป็นประจำ-กลุ่มที่มีโรคประจำตัวแต่กำเนิด เช่น โรคดาวน์ซินโดรม โรคหนังยืดผิดปกติ โรคกระดูกเปราะกรรมพันธุ์ และโรคครูซอง จะทำให้มีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ-กลุ่มผู้ป่วยโรคที่มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อ หลอดเลือด น้ำเหลือง และเส้นประสาท จะมีเปอร์เซ็นต์เกิดภาวะคอลลาเจนเรียงตัวผิดปกติสูงขึ้น ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงของโรคกระจกตาโก่งมากกว่าคนปกติ-กลุ่มผู้มีปัญหาสายตาเอียงหรือสั้น โดยเฉพาะผู้ที่มีค่าสายตาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว-กลุ่มคนที่ใส่คอนแทคเลนส์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน-กลุ่มคนที่เคยได้รับการผ่าตัดที่กระจกตา เช่น การทำเลสิค เนื่องจากในขั้นตอนการทำมีการฝนกระจกตาทำให้กระจกตาบางลง-หญิงตั้งครรภ์ หากมีโรคกระจกตาโก่งอยู่แล้ว จะมีโอกาสเกิดโรครุนแรงขึ้น เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน-กลุ่มผู้ที่เริ่มมีโรคกระจกตาโก่งเมื่ออายุต่ำกว่า 20 ปี มักมีอาการรุนแรงและการดำเนินโรคได้เร็วกว่าคนที่มีอาการในช่วงอายุมากกว่า 20 ปี

การตรวจวินิจฉัยโรคกระจกตาโก่ง

โดยปกติคนที่มีโรคกระจกตาโก่งมักตรวจพบอาการโดยบังเอิญจากการเข้ามาตรวจสุขภาพตาเพื่อประเมินโรคตา ความเสี่ยง หรือทำหัตถกรรมอื่นๆ แต่หากตรวจพบว่ามีความผิดปกติที่กระจกตา จักษุแพทย์จะดำเนินการตรวจกระจกตาในเชิงลึก ร่วมกับการซักประวัติโรคประจำตัว ประวัติเกี่ยวกับโรคตาในครอบครัว สำหรับวิธีการตรวจกระจกตาโดยละเอียดมีวิธีการดังต่อไปนี้

●      การตรวจวัดความโค้งกระจกตาด้วยการใช้เครื่องวิเคราะห์กระจกตา (Corneal topography) เพื่อประเมินความผิดปกติของกระจกตา

●      การวิเคราะห์ความผิดปกติของค่าสายตาและค่าความโค้งกระจกตาด้วย เครื่องวัดสายตาแบบคอมพิวเตอร์ (Auto kerato-refractometer)

●      การใช้เครื่อง Slit-lamp หรือกล้องจุลทรรศน์ดวงตา ตรวจสอบความผิดปกติของกระจกตาและบริเวณอื่นๆทั้งหมดร่วมด้วย

การรักษาโรคกระจกตาโก่ง  

เมื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยกระจกตาและจักษุแพทย์ลงความเห็นว่าผู้ป่วยมีอาการโรคกระจกตาโก่ง หลังจากนั้นแพทย์จะประเมินการมองเห็นและการดำเนินโรคว่ามีกระจกตาโก่งอย่างรวดเร็วหรือไม่ เพื่อกำหนดวิธีการรักษา โดยการรักษามีดังนี้

1.การรักษาเพื่อเพิ่มการมองเห็น

ในกรณีที่อาการยังไม่รุนแรง

●  ​การใส่แว่นตาหรือใส่คอนแทคเลนส์ ในกรณีกระจกตายังมีการเปลี่ยนแปลงไม่มาก แพทย์จะให้ผู้ป่วยสวมแว่นตา ใส่คอนแทคเลนส์แบบนิ่ม(Soft contact lens) หรือแบบพิเศษต่างๆ เช่น คอนแทคเลนส์แบบแข็ง(RGP), คอนแทกเลนส์ไฮบริด(Hybrid contact lens), Scleral contact lens, Piggyback contact lens เพื่อเพิ่มการมองเห็นให้ชัดเจนขึ้น

ในกรณีที่อาการของโรคมีความรุนแรง

●  ​การผ่าตัดใส่วงแหวนขึงกระจกตา (Intracorneal ring segment implantation) ในกรณีที่กระจกตาโก่งมากจนไม่สามารถใส่คอนแทกเลนส์ได้หรือสายตาเอียงมากจนเกินค่าของคอนแทกเลนส์ที่มี จะต้องทำการรักษาโดยการใส่วงแหวนขึงที่กระจกตาเพื่อดันให้กระจกตาแบนลง มีระดับความโค้งใกล้เคียงในระดับปกติ และปรับสายตาให้เอียงน้อยลง ทำให้ผู้ป่วยสามารถใส่คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษหรือใส่แว่นสายตาได้ตามปกติ ซึ่งในปัจจุบัน สามารถใช้เฟมโตเลเซอร์ (Femtosecond laser-assisted) เข้ามาช่วยในการผ่าตัด ทำให้สามารถได้แม่นยำและง่ายขึ้น

●      การผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา หากว่ากระจกตาโก่งมากหรือบางมากจนไม่สามารถแก้ไขด้วยการใส่วงแหวนหรือใส่คอนแทกเลนส์ได้ หรือมีแผลเป็นที่กระจกตาที่บดบังการมองเห็น ผู้ป่วยต้องรักษาโดยการเปลี่ยนกระจกตาใหม่ให้กับผู้ป่วยเพื่อทดแทนกระจกตาเก่าที่เสียหายรุนแรง แต่อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตานั้นเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะที่มีความซับซ้อน ต้องดำเนินการโดยจักษุแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกระจกตา และต้องรอคอยคิวกระจกตาบริจาคจากผู้บริจาคดวงตาซึ่งอาจนานถึง 4-5 ปี

2. การชะลอและป้องกันไม่ให้กรจกตาโก่งมากขึ้น

●      การฉายแสงอัลตราไวโอเลตร่วมกับวิตามินบี12 (Corneal Cross Linking) เป็นวิธีการรักษาโดยใช้วิตามินบี12 ร่วมกับการฉายแสงยูวีในปริมาณที่เหมาะสมที่กระจกตาเพื่อเพิ่มทำให้กระจกตามีความแข็งแรงขึ้น สำหรับวิธีนี้เป็นวิธีการรักษาแบบใหม่มีข้อดีตรงที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าการผ่าตัด แต่การรักษามีข้อจำกัด คือ ไม่สามารถใช้กับผู้ป่วยที่มีกระจกตาหนาน้อยกว่า 400 ไมครอน ผู้ที่มีปัญหากระจกตาติดเชื้อ ผู้ที่มีแผลเป็นบริเวณกระจกตา หรือเพิ่งหายจากการเป็นแผลที่กระจกตา

●      การผ่าตัดใส่วงแหวนขึงกระจกตา (Intracorneal ring segment implantation) การใส่วงแหวนขึงที่กระจกตาเพื่อดันให้กระจกตาแบนลง มีระดับความโค้งใกล้เคียงในระดับปกติ และปรับสายตาให้เอียงน้อยลง นอกจากทำให้ผู้ป่วยสามารถใส่คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษหรือใส่แว่นสายตาได้ตามปกติตามข้างต้นแล้ว ยังช่วยชะลอการดำเนินความรุนแรงโรคได้อีกด้วย

●      การรักษาโรคทางตาที่เป็นต้นเหตุ

 เช่น โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ ควรรักษาโรคทางตาให้สงบร่วมด้วย เพื่อลดการขยี้ตาแรงจากการคันเคืองตา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กระจกตาโก่งมากขึ้น

เป็นอย่างไรบ้างสำหรับข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับโรคกระจกตาโก่งหรือ Keratoconus ที่นำมาฝาก ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หากไม่มีปัจจัยเรื่องพันธุกรรม โรคที่มีแต่กำเนิด หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด น้ำเหลือง และเส้นประสาท สามารถลดความเสี่ยงของโรคได้ด้วยหลีกเลี้ยงการขยี้ตารุนแรง หมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตา คุณภาพการมองเห็น และตรวจเช็คสุขภาพตาเป็นประจำ เพียงเท่านี้ก็ลดความเสี่ยงห่างไกลจากโรคกระจกตาโก่งไก้

 เปรียบเทียบราคาการทำ LASIK แต่ละประเภท คุ้มไหมกับราคาที่ต้องจ่าย
 ใครบ้างเสี่ยงเป็นต้อลม เป็นแล้วหายได้หรือไม่
 ทำไมทำเลสิกแล้วตาแห้ง น้ำตาเทียมช่วยได้อย่างไร?
 เช็กด่วน! อาการแบบไหนบ่งบอกว่าคุณได้เวลาตัดแว่น
 กระจกตาถลอก (Corneal Abrasion) กี่วันหาย ใช้ยาอะไร
 ต้อลม (pinguecula) รักษายังไงให้หายขาด
 วิธีทดสอบสายตาอย่างไร ให้รู้ว่าเป็นภาวะสายตาเอียง (Astigmatism)
 ไขข้อสงสัย อาการตาเข ตาเหล่ (Strabismus)ในเด็กเกิดจากพันธุกรรมจริงหรือ
 รักษาสายตาสั้น ยาว เอียง ด้วย PRK คืออะไร?
 เฝ้าระวังต้อกระจก (Cataract) เกิดจากอะไร รักษาอย่างไรให้มองเห็นชัดเจนอีกครั้ง