ภาวะถุงหุ้มเลนส์ขุ่น (Posterior capsule opacity/After cataract)

 ภาวะถุงหุ้มเลนส์ขุ่น (Posterior capsule opacity/After cataract)

โดยปกติถุงหุ้มเลนส์ มีลักษณะเป็นถุงบางๆ โปร่งใส หุ้มอยู่รอบเลนส์ตาของเรา ทำหน้าที่ยึดให้เลนส์ตาอยู่กับที่ไม่เคลื่อนออกจากตำแหน่งปกติ ซึ่งเวลาที่ทำการผ่าตัดเอาต้อกระจกออก จักษุแพทย์จะเหลือส่วนของถุงหุ้มเลนส์ไว้สำหรับใส่เลนส์แก้วตาเทียม เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ อาจพบว่าถุงหุ้มเลนส์เกิดการ ขุ่นขึ้นมาภายหลังได้ ผู้ป่วยที่ผ่าตัดต้อกระจกและใส่เลนส์แก้วตาเทียมไปแล้ว ในบางรายอาจรู้สึกว่าตามัวลงหลังจากผ่าตัดไปสักระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งภาวะนี้สามารถพบได้ ตั้งแต่หลายเดือนจนถึงหลายปีหลังผ่าตัดต้อกระจก

สาเหตุการเกิดภาวะถุงหุ้มเลนส์ขุ่น

หลังจากการผ่าตัดต้อกระจก เซลล์เยื่อบุด้านหลังของเลนส์ตายังคงเจริญเติบโตและเคลื่อนที่ไปที่ด้านหลังของเลนส์ตาเทียม ทำให้เกิดการสะสมและขุ่นมัวของถุงหุ้มเลนส์ตา การขุ่นนี้จะขัดขวางการผ่านของแสงไปยังจอประสาทตา ทำให้เกิดปัญหาการมองเห็นมัวลงคล้ายกับอาการของต้อกระจกเดิม บางคนจึงเข้าใจผิดว่าเกิดต้อกระจกอีกครั้ง แต่จริงๆแล้วเป็นภาวะถุงหุ้มเลนส์ขุ่น ปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยที่ทำให้เกิดภาวะถุงหุ้มเลนส์ขุ่น เช่น อายุน้อย โรคเบาหวาน เป็นต้น

อาการของภาวะถุงหุ้มเลนส์ขุ่น

ตามัวลงอย่างช้าๆจากที่เคยมองเห็นชัดหลังผ่าตัดต้อกระจกช่วงแรกๆ ลักษณะตามัวอาจรู้สึกเหมือนมีฝ้ามาบังการมองเห็น หรืออาจเห็นเป็นแสงจ้า แสงสะท้อน หรือแสงแตกกระจายโดยอาจมีอาการภายในไม่กี่เดือนหรือหลังจากผ่าตัดต้อกระจกไปหลายปีแล้วก็ได้ โดยการมองเห็นจะค่อยๆแย่ลงอย่างช้าๆ คล้ายกับอาการของต้อกระจก

วิธีการรักษาถุงหุ้มเลนส์ขุ่น

ใช้วิธีการยิงเลเซอร์ YAG Laser Capsulotomy เพื่อเปิดช่องถุงหุ้มเลนส์ด้านหลัง เพื่อให้แสงผ่านเข้าไปที่จอประสาทตาได้มากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ทำได้รวดเร็ว ใช้เวลาไม่นาน มีประสิทธิภาพ และมักทำให้การมองเห็นดีขึ้นอย่างรวดเร็วหลังทำการรักษาโดยการยิงเลเซอร์รักษาภาวะถุงหุ้มเลนส์ขุ่น YAG Laser Capsulotomy มีขั้นตอนดังนี้

1. หยอดยาขยายม่านตา เพื่อให้มองเห็นถุงหุ้มเลนส์ได้ชัดเจน

2. ใช้ยาชาหยอดตา เพื่อลดอาการเจ็บขณะยิงเลเซอร์

3. แพทย์ผู้ทำการรักษาจะยิงเลเซอร์ไปที่ด้านหลังของถุงหุ้มเลนส์เพื่อให้ถุงหุ้มเลนส์ขาดออกเป็นรู เพื่อให้แสงผ่านเข้าไปได้มากขึ้น โดยในขณะที่รักษาอาจมีอาการแสบตาเล็กน้อย แต่ไม่เป็นอันตรายหลังรักษาด้วยการยิงเลเซอร์เสร็จแล้ว สามารถกลับบ้านได้ทันทีไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดจากการรักษาถุงหุ้มเลนส์ขุ่น

หลังการเข้ารับการรักษาด้วยวิธียิงแสงเลเซอร์ถุงหุ้มเลนส์ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการตามัวจากการขยายม่านตา โดยสามารถหายไปเองได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง อาการข้างเคียงอื่นๆ เช่น มีการอักเสบในตาเล็กน้อย, ความดันลูกตาสูงทำให้ปวดตาได้ พบได้ไม่บ่อย บางรายอาจมีอาการมองเห็นคล้ายหยากไย่ลอยไปมาในตาได้ ซึ่งเกิดจากตะกอนของถึงหุ้มเลนส์ที่เคลื่อนที่อยู่ภายในตา ภาวะนี้ไม่อันตราย และผู้ป่วยมักรู้สึกว่าดีขึ้นเองเมื่อเวลาผ่านไป  

หากมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆหลังจากการรักษาภาวะถุงหุ้มเลนส์ขุ่นด้วยการยิงแสงเลเซอร์ ควรปรึกษาจักษุแพทย์

สรุป

​ภาวะถุงหุ้มเลนส์ขุ่นเป็นภาวะที่เกิดหลังการผ่าตัดต้อกระจก ทำให้ตาพร่ามัวลงอย่างช้าๆ สามารถรักษาได้โดยการยิงแสงเลเซอร์ถุงหุ้มเลนส์ ซึ่งเป็นการรักษาที่ใช้เวลาไม่นาน มีประสิทธิภาพ และทำให้การมองเห็นดีขึ้นได้รวดเร็ว

 ชวนสังเกตอาการเริ่มต้นต้อกระจก เมื่อไหร่ที่ควรรักษา
 วิธีทดสอบสายตาอย่างไร ให้รู้ว่าเป็นภาวะสายตาเอียง (Astigmatism)
 เลนส์แว่นตามีกี่แบบ เลนส์ยี่ห้อไหนดีที่สุด
 วุ้นตาเสื่อมมีโอกาสตาบอดไหม
 ใครเสี่ยงเป็นวุ้นในตาเสื่อมบ้าง พร้อมแนะนำแนวทางการป้องกันและรักษาให้ถูกวิธี
 ถามตอบเรื่องที่คุณสงสัย กับการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม (ICL)
 คัดมาแล้ว! 5 อาหารเสริมบำรุงสายตา ลดเสี่ยงตาเสื่อมในวัยทำงาน
 อายุเท่าไหร่เสี่ยงเป็นต้อหินมุมปิด
 เช็กให้ชัวร์อาการแบบนี้เป็นสัญญาณ “ต้อกระจก” หรือไม่
 การดูแลดวงตาหลังผ่าตัดเลสิก Femto Lasik